บทความ

ใบรับการแจ้งชีวิตคู่...ไม่มีผลทางกฎหมาย

ใบรับการแจ้งชีวิตคู่

ใบรับการแจ้งชีวิตคู่ ยังไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เรื่องทรัพย์สินถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวม

 

          เมื่อวันที่ 14 ก.พ.66 ที่ผ่านมา มีคู่รักจำนวนมากใช้โอกาสเนื่องในวันแห่งความรักจดทะเบียนสมรส เพื่อเป็นเครื่องยืนยันการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวอย่างเป็นทางการ ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การเปิดพื้นที่ให้คู่รักเพศหลากหลาย (LGBTIQN+) ร่วมจดใบรับการแจ้งชีวิตคู่แม้ทราบดีว่าไม่มีผลในทางกฏหมาย แต่ก็เพื่อเป็นแรงผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมในการสร้างความเท่าเทียม และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีแก่สถาบันครอบครัว

          “รุจิรา อารินทร์” ผู้อำนวยการเขตดุสิต กรุงเทพฯ กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ว่า” ในวันแห่งความรัก 14 ก.พ. 2566 เป็นครั้งแรกที่เขตดุสิต เปิดให้คู่รัก LGBTQ จดแจ้งชีวิตคู่ หลังจากปีที่แล้วเขตบางขุนเทียน เปิดให้จดแจ้งเป็นครั้งแรกและมีคู่รักเพศเดียวกันเข้ามาจดทะเบียนกว่า 269 คู่ โดยแนวคิดเกิดจากการมองเห็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งในสังคม และถึงเวลาแล้วที่ไม่ควรถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย ที่ยังไปไม่ถึง เพราะความรักของคนสมัยนี้ได้ก้าวข้ามเรื่องเพศไปแล้ว

          การเปิดให้กลุ่ม LGBTQ จดแจ้งชีวิตคู่ เพราะทางเขตอยากให้มีการรวบรวมสถิติ ถึงความประสงค์ของคู่รักเพศที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องการมีความผูกพันกันไปในอีกระดับขั้น นอกจากการเป็นแฟนกัน ว่าจำนวนมากเท่าไร เพราะทุกวันนี้กลุ่ม LGBTQ มีอยู่จำนวนมาก แต่รัฐไม่มีข้อมูลว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีความรักยั่งยืนถึงขั้น จดทะเบียนเป็นสามีภรรยา มีอยู่จำนวนเท่าไร ดังนั้น ในปีนี้ ทางกรุงเทพฯ จึงมีการเปิดให้จดแจ้งความรักได้ในเขตดุสิต และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อรวบรวมเป็นสถิติ จะทำให้เห็นความต้องการของกลุ่มหลากหลายทางเพศมากขึ้น”

          การจดแจ้งชีวิตคู่ ของกลุ่ม LGBTQ ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เป็นสถิติยืนยันความต้องการของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ช่วยทำให้เกิดการผลัดดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะสถิติการจดแจ้งนี้ เป็นฐานข้อมูลของรัฐ ที่มีความชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้

          ขอบคุณที่มาข่าวจาก  theactive.net  thairath.co.th


          หากพิจารณาในส่วนของกฎหมายครอบครัว หมวด ๒ “เงื่อนไขแห่งการสมรส” ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน

          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 บัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย”

           “ใบรับการแจ้งชีวิตคู่” ที่ออกแบบมาคล้ายกับใบทะเบียนสมรส จะยังไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใดๆ เหมือนทะเบียนสมรส แต่จะมีผลทางพฤตินัย คือ การแสดงเจตจำนงต่อหน้านายอำเภอ เพื่อประกาศให้รู้ร่วมกันและเป็นการทำกิจกรรมระหว่างการรอกฎหมายที่อาจจะมีผลบังคับใช้ในอนาคต รวมทั้งเป็นการแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีการปิดกั้น เท่านั้น จึงยังไม่ถือว่าเป็นการสมรสกันตามกฎหมาย

          เมื่อ ใบรับการแจ้งชีวิตคู่ ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่สิ่งที่คู่รักควรรู้ไว้ คือ เรื่องทรัพย์สิน ที่คู่รักเพศหลากหลาย (LGBTIQN+) ได้ลงทุน ร่วมแรง ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างที่อยู่กินกันนั้น จะไม่ถือว่าเป็น สินสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ด้วย

          “มาตรา 1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

          (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
          (2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือ   หนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
          (3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
          ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส””

          ดังนั้น เมื่อทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างที่อยู่กินกัน ก็จะถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์รวม “เจ้าของร่วมกัน” และมีส่วนในทรัพย์สินเหล่านั้นคนละครึ่งเท่ากันเท่านั้น หากต่อมาเลิกกัน แยกจากกัน ก็ต้องแบ่งทรัพย์สินกันคนละครึ่ง

                    สามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส แยกทางกันทรัพย์สินเป็นของใคร ?

ติดต่อ ทนายเจตน์สฤษฎิ์ ไชยงค์  ทั่วราชอาณาจักร
โทร. 087-999-3841